อักษรควบ

อักษรควบ หรือ คำควบกล้ำ คือ คำที่ออกเสียงครั้งละ 1 พยางค์ แต่อ่านออกเสียงเหมือน 2 พยางค์ คำควบกล้ำจะมี 2 ชนิด คือ อักษรควบแท้ และ อักษรควบไม่แท้ คำที่มีอักษรควบกล้ำชนิดที่เรียกว่า “อักษรควบแท้” แม้จะมีไม่มาก แต่ก็เป็นคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันจนเป็นความเคยชิน ตัวอย่างเช่น กรด กลด ขริบ ขลิบ ครอก คลอก ตราด ประ ปละ ผลาญ พริก พลิก

คำควบกล้ำของไทยมีขอบเขตจำกัด ในทางภาษาศาสตร์อาจจะกล่าวได้ว่า เสียงที่จะนำหน้าได้นั้นต้องเป็นเสียงแข็ง อย่าง [p t k] เท่านั้น สำหรับภาษาไทย ก็รวมทั้งเสียงที่มีลมตามออกมาด้วย ดังนี้
[p] ป [ph] พ (ผ ภ)
[t] ต (ฏ) [th] ท (ฐ ฑ ฒ ถ ธ)
[k] ก [kh] ค (ข ฃ ฅ ฆ)

** พยัญชนะที่อยู่ในวงเล็บคือพยัญชนะที่มีวิธีการออกเสียงอย่างเดียวกันกับพยัญชนะที่อยู่นอกวงเล็บ

เมื่อพิจารณาดูคำควบแท้ในภาษาไทยก็จะเห็นได้ว่า พยัญชนะที่อยู่ในวงเล็บมีคำควบกล้ำน้อยกว่าหรือไม่มีเลย ดังนี้
[pr] ประ [pl] ปละ [phr] พริก [phl] พลิก, ผลาญ
[tr] ตราด [tl] – [thr] – [thl] -
[kr] กรด [kl] กลด [khr] ขริบ, ครอก [khl] ขลิบ, คลอก

ภาษาไทยมีเสียงควบแท้ [tr] แต่ไม่มี [tl] ดังจะเห็นได้ว่า คำว่า “ตราด” เราออกเสียงควบกล้ำ แต่คำว่า “ตลาด” เราอ่านแยกเรียงพยางค์ ส่วนเสียง [thr] นั้น แต่เดิมโดนแปลงเสียงเป็น [s] หรือ [ซ] เช่น ทราย ทรุดโทรม ฯลฯ กลายเป็นคำในกลุ่มปิดกลุ่มหนึ่งของภาษาไทย ในปัจจุบันเมื่อเริ่มรับเสียงจากภาษาอังกฤษจึงเกิดเสียงควบกล้ำใหม่ เช่น ทรอย (Troy) ทริป (trip) แต่ก็ยังไม่มีเสียงควบกล้ำ [thl] คำที่มีเสียงควบแท้ทำท่าว่าจะเป็นคำในกลุ่มปิด เพราะมีสมาชิกจำกัด แต่แล้วอิทธิพลของเสียงจากภาษาอังกฤษก็ทำให้เกิดเสียงควบแท้เสียงใหม่ๆ ขึ้นมาอีก 5 เสียง คือ
[dr] ดราฟต์ (draft)
[br] บรอนซ์ (bronze) [bl] บล็อก (block)
[fr] ฟรี (free) [fl] ฟลุก (fluke)

คำในกลุ่มนี้จึงกลายเป็นกลุ่มเปิด แต่เปิดในขอบเขตจำกัด เพราะยังมีเสียงควบกล้ำแบบควบแท้อีกมากมายที่คนไทยออกเสียงไม่ถนัด ไม่ว่าจะเป็นคำจากภาษาบาลีสันสกฤต เขมร หรือภาษาอังกฤษก็ตาม เช่น เชรา [เชฺรา] (ภาษาเขมร แปลว่า ซอกผา, ห้วย) ศฤงคาร [สิงคาน, สะหฺริงคาน] (ภาษาสันสกฤต แปลว่า ความใคร่) สแลง (จากภาษาอังกฤษว่า slang) ขอให้สังเกตว่า คนไทยไม่สามารถจะออกเสียง ช ช้าง ควบกับ ร เรือ ได้ ในกรณีของ “ศฤ” หรือ “สร” ก็ไม่สามารถจะควบกล้ำได้ ต้องใช้วิธีตัดเสียงหรือแทรกเสียงอะ ส่วนเสียง [sl] นั้น คนไทยก็ควบกล้ำไม่ได้ ต้องแทรกเสียงอะ เช่นกัน

ในขณะที่คำควบกล้ำแท้มีลักษณะทั้งปิดและเปิด แต่คำควบกล้ำไม่แท้น่าจะเป็นกลุ่มปิด เพราะมีคำเพียงไม่กี่คำที่อยู่ในกลุ่มนี้ และแทบจะไม่มีคำเพิ่ม เช่น จริง ไซร้ ศรัทธา ศรี เศร้า สรง สรวง สรวม สรวย สรวล สร้อย สระ (น้ำ) สร้าง เสริม

คำเหล่านี้ล้วนแต่อ่านออกเสียงโดยไม่มีเสียง ร เรือ ควบ ทั้งสิ้น คำในกลุ่มนี้นอกจากจะไม่มีสมาชิกเพิ่มแล้ว ในปัจจุบันยังเกิดปรากฏการณ์ ๒ อย่าง คือ อย่างแรก มีผู้ตัดตัว ร เรือ ทิ้งไป เพราะเห็นว่าไม่ได้ออกเสียงแล้ว เช่น เขียน “จริง” เป็น “จิง” เช่นเดียวกับที่ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันเปลี่ยนรูปการเขียนจาก through เป็น thru อย่างที่สอง บางคนก็เพิ่มเสียงอะลงไป เช่น อ่านคำ “แม่สรวย” เป็น [แม่-สะ-รวย]

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

อักษรนำ

อักษรนำ คือ คำที่มีพยัญชนะ 2 ตัวเรียงกัน ประสมด้วยสระตัวเดียวกัน พยัญชนะตัวแรกของคำจะต้องเป็นอักษรสูงหรืออักษรกลาง จะอ่านออกเสียง “อะ” เพียงกึ่งเสียง พยัญชนะตัวหลังจะต้องเป็นอักษรต่ำเดี่ยว จะออกเสียงตามเสียงสระที่ประสม และจะอ่านออกเสียงวรรณยุกต์ตามเสียงพยัญชนะตัวแรก พยัญชนะ 2 ตัวเรียงกันร่วมสระผันในหลักภาษา
อักษรสูงอักษรกลางนำพา
อักษรตัวหน้าเรียก “อักษรนำ”
อักษรตัวตามอักษรต่ำเดี่ยว เสียงที่ข้องเกี่ยวมันดูลึกล้ำ เหมือนมีตัว “ห” มานำทุกคำ

อักษรสูงนำอักษรต่ำเดี่ยว
ผนวช (ผะ –หนวด) ตัวเดียวเสียงก็เปลี่ยนไป ไม่ใช่ ผะ – นวด อย่างที่เคยใช้ เสียง “น” เปลี่ยนไปตามอักษรนำ

อักษรกลางนำอักษรต่ำเดี่ยว
ตลาด (ตะ – หลาด) ตัวเดียวเสียงก็เปลี่ยนคำ ไม่ใช่ ตะ – ลาด อย่างที่เคยทำ แต่สบาย (สะ – บาย) ไม่ใช่อักษรนำ เมื่อแยกคำอ่าน สะ –บาย คงที่เสียง “อะ” ไม่ประวิสรรชนีย์ กึ่งเสียงเท่านี้ไม่มี “ห” นำ หากตัว “ห” นำอักษรต่ำเดี่ยว เสียง “อะ” ไม่เกี่ยวกลมเกลียวทุกคำ เสียงที่เปลี่ยนไปคืออักษรต่ำ

การออกเสียง จะออกเสียงพยัญชนะสองตัวผสมกันคนละครึ่ง พอแยกออกได้ว่าพยัญชนะอะไรผสมกัน แต่การผสมนี้จะไม่สนิทเท่าอักษรควบแท้ มียกเว้นอยู่ 2 กรณีที่จะไม่ออกเสียงพยัญชนะอีกตัว ได้แก่
ตัว ห เมื่อเป็นตัวนำอักษรเดี่ยว ไม่ต้องออกเสียงคนละครึ่งเหมือนอักษรนำอื่น ๆ แต่ให้ออกเสียงประสมกันสนิทเหมือนอักษรควบแท้ เช่น หนู หมอ ใหญ่ ฯลฯ
ตัว อ เมื่อนำหน้า ตัว ย ไม่ต้องออกเสียงเหมือนอักษรนำธรรมดา ให้ออกเสียงทำนองเดียวกับ ห นำ แต่เป็นเสียงอักษรกลาง คือ อย่า อยู่ อย่าง อยาก มี 4 คำเท่านั้น

ถ้าพยัญชนะข้างหน้าเป็นอักษรกลางหรืออักษรสูง แล้วพยัญชนะข้างหลังเป็นอักษรต่ำที่เป็นอักษรเดี่ยว เวลาอ่านให้ผันเสียงอักษรต่ำนั้นเป็นเสียงสูงตามอักษรที่เป็นตัวนำ แต่ถ้าพยัญชนะข้างหน้าเป็นอักษรต่ำ หรือพยัญชนะข้างหลังไม่ใช่อักษรต่ำที่เป็นอักษรเดี่ยว ให้อ่านออกเสียงพยัญชนะนั้นตามปกติเมื่ออกเสียงจะต้องมีคำควบกล้ำผสมอยู่ด้วย

วิธีสังเกตอักษรนำ
1. สังเกตเสียงออกเสียงประสมกันแต่ไม่กล้ำกันสนิทเหมือนอักษรควบแท้ สามารถแยกเป็นสองพยางค์ได้ ยกเว้น ห และ อ ที่เป็นตัวนำ (อักษรนำที่ ห และ อ นำนั้นเป็นอักษรนำ แต่ไม่อ่านแบบอักษรนำ)


2. คำที่มีสระหน้าหรือสระคร่อม (สระหน้า-บน-หลัง) คำที่มีอักษรนำส่วนใหญ่จะอยู่ติดกับอักษรหลัก และรูปสระล้อมรอบอยู่ด้านนอก เช่น เฉลย แสลง (สะ-แหลง) ไฉน เสมียน เถลิง เสลา ฯลฯ มีส่วนน้อยที่อักษรแยกจากกันเช่น ขโมย ทแยง สแลง (สะ-แลง)

3. สังเกตรูปพยัญชนะ คือ ถ้าอักษรนำเป็นอักษรสูง หรืออักษรกลาง อักษรเดี่ยวซึ่งเป็นตัวที่ 2 จะต้องออกเสียงเป็นเสียงสูงหรือกลางตามไปด้วย เช่น กนก ถนน สนิม ขนม ฯลฯ ในที่นี้ นก นน และ นิม ต้องออกเสียงให้เป็น หนก หนน หนิม ซึ่งผิดกับเมื่ออยู่ตามลำพัง

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

คำบาลี – สันสกฤต

ลักษณะของภาษาบาลีและสันสกฤต
ภาษาบาลีและสันสกฤตอยู่ในตระกูลภาษาที่มีวิภัตปัจจัย คือเป็นภาษาที่ที่มีคำเดิมเป็นคำธาตุ เมื่อจะใช้คำใดจะต้องนำธาตุไปประกอบกับปัจจัยและวิภัตติ เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกพจน์ เช่น ลึงค์ บุรุษ กาล มาลา วาจก

โครงสร้างของภาษา ประกอบด้วย ระบบเสียง หน่วยคำ และระบบโครงสร้างของประโยค ภาษาบาลีและสันสกฤตมีหน่วยเสียง 2 ประเภท คือ หน่วยเสียงสระและหน่วยเสียงพยัญชนะ ดังนี้


1.หน่วยเสียงสระ
หน่วยเสียงสระภาษาบาลีมี 8 หน่วยเสียง คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
หน่วยเสียงภาษาสันสกฤต ตรงกับภาษาบาลี 8 หน่วยเสียง และต่างจากภาษาบาลีอีก 6 หน่วยเสียง เป็น 14 หน่วยเสียง คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ไอ เอา ฤ ฤา ฦ ฦๅ

2.หน่วยเสียงพยัญชนะ
หน่วยเสียงพยัญชนะภาษาบาลีมี 33 หน่วยเสียง
หนเวยเสียงภาษาสันสกฤตมี 35 หน่วยเสียง เพิ่มหน่วยเสียง ศ ษ ซึ่งหน่วยเสียงพยัญชนะทั้งสิงภาษานี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ พยัญชนะวรรค และพยัญชนะเศษวรรค

วิธีสังเกตคำบาลี
1. สังเกตจากพยัญชนะ ตัวสะกด และตัวตาม
ตัวสะกด คือ พยัญชนะที่ประกอบอยู่ข้างท้ายสระ ประสมกับสระและพยัญชนะต้น เช่น ทุกข์
ตัวตาม คือ ตัวที่ตามหลังตัวสะกด เช่น สัตย สัจจ ทุกข เป็นต้น

คำในภาษาบาลีจะต้องมีสะกดและตัวตามเสมอ โดยดูจากพยัญชนะบาลี มี 33 ตัว แบ่งออกเป็นวรรคดังนี้
แถวที่ 1 2 3 4 5
วรรค กะ ก ข ค ฆ ง
วรรค จะ จ ฉ ช

ฌ ญ
วรรค ฏะ ฎ ฐ ฑ ฒ ณ
วรรค ตะ ต ถ ท ธ น
วรรค ปะ ป ผ พ ถ ม
เศษวรรค ย ร ล ว ส ห ฬ อัง

มีหลักสังเกต ดังนี้
ก. พยัญชนะตัวที่ 1 , 3 , 5 เป็นตัวสะกดได้เท่านั้น (ต้องอยู่ในวรรคเดียวกัน)
ข. ถ้าพยัญชนะตัวที่ 1 สะกด ตัวที่ 1 หรือตัวที่ 2 เป็นตัวตามได้ เช่น สักกะ ทุกข สัจจ ปัจฉิม สัตต หัตถ บุปผา เป็นต้น
ค. ถ้าพยัญชนะตัวที่ 3 สะกด ตัวที่ 3 หรือ 4 เป็นตัวตามได้ในวรรคเดียวกัน เช่น อัคคี พยัคฆ์ วิชชา อัชฌา พุทธ คพภ(ครรภ์)
ง. ถ้าพยัญชนะตัวที่ 5 สะกดทุกตัวในวรรคเดียวกันตามได้ เช่น องค์ สังข์ องค์ สงฆ์ สัมปทาน สัมผัส สัมพันธ์ สมภาร เป็นต้น
จ. พยัญชนะบาลี ตัวสะกดตัวตามจะอยู่ในวรรคเดียวกันเท่านั้นจะข้ามไปวรรคอื่นไม่ได้

2. สังเกตจากพยัญชนะ “ฬ” จะมีใช้ในภาษาบาลีในไทยเท่านั้น เช่น จุฬา ครุฬ อาสาฬห์ วิฬาร์ โอฬาร์ พาฬ เป็นต้น

3. สังเกตจากตัวตามในภาษาบาลี จะมาเป็นตัวสะกดในภาษาไทยโดยเฉพาะวรรค ฎ และวรรคอื่นๆบางตัว จะตัดตัวสะกดออกเหลือแต่ตัวตามเมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย เช่น
ภาษาบาลี ภาษาไทย
รัฎฐ รัฐ
ทิฎฐิ ทิฐิ
อัฎฐิ อัฐิ
วัฑฒนะ วัฒนะ
ปุญญ บุญ
วิชชา วิชา
สัตต สัต
เวชช เวช
กิจจ กิจ
เขตต เขต
นิสสิต นิสิต
นิสสัย นิสัย

ยกเว้นคำโบราณที่นำมาใช้แล้วไม่ตัดรูปคำซ้ำออก เช่น ศัพท์ทางศาสนา ได้แก่ วิปัสสนา จิตตวิสุทธิ์ กิจจะลักษณะ เป็นต้น

วิธีสังเกตคำสันสกฤต
1. พยัญชนะสันกฤตมี 35 ตัว คือ พยัญชนะบาลี 33 ตัว + 2 ตัวคือ ศ, ษ ฉะนั้นจึงสังเกตจากตัว ศ, ษ มักจะเป็นภาษาสันสกฤต เช่น กษัตริย์ ศึกษา เกษียร พฤกษ์ ศีรษะ เป็นต้น ยกเว้นคำไทยบางคำที่ใช้เขียนด้วยพยัญชนะทั้ง 2 ตัวนี้ เช่น ศอก ศึก ศอ เศร้า ศก ดาษ กระดาษ ฝรั่งเศส ฝีดาษ ฯลฯ

2. ไม่มีหลักการสะกดแน่นอน ภาษาสันสกฤตตัวสะกดตัวตามจะอยู่ข้ามวรรคกันได้ ไม่กำหนดตายตัว เช่น อัปสร เกษตร ปรัชญา อักษร เป็นต้น

3. สังเกตจากสระ สระในภาษาบาลี มี 8 ตัว คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ส่วนสันสกฤต คือ สระภาษาบาลี 8 ตัว + เพิ่มอีก 6 ตัว คือ สระ ฤ ฤา ภ ภา ไอ เอา
ถ้ามีสระเหล่านี้อยู่และสะกดไม่ตรงตามมาตราจะเป็นภาษาสันสกฤต เช่น ตฤณมัย ไอศวรรย์ เสาร์ ไปรษณีย์ ฤาษี คฤหาสน์ เป็นต้น

4. สังเกตจากพยัญชนะควบกล้ำ ภาษาสันสกฤตมักจะมีคำควบกล้ำข้างท้าย เช่น จักร อัคร บุตร สตรี ศาสตร์ อาทิตย์ จันทร์ เป็นต้น

5. สังเกตจากคำที่มีคำว่า “เคราะห์” มักจะเป็นภาษาสันสกฤต เช่น เคราะห์ พิเคราะห์ สังเคราะห์ อนุเคราะห์ เป็นต้น

6. สังเกตจากคำที่มี “ฑ” อยู่ เช่น จุฑา กรีฑา ครุฑ มณเทียร จัณฑาล เป็นต้น

7. สังเกตจากคำที่มี “รร” อยู่ เช่น สรรค์ ธรรม์ วรรณ บรรพต ภรรยา บรรณารักษ์ มรรยาท กรรม ทรรศนะ สรรพ เป็นต้น

ลักษณะการยืมคำภาษาบาลีและสันสกฤต
ภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นภาษาตระกูลเดียวกัน ลักษณะภาษาและโครงสร้างอย่างเดียวกัน ไทยเรารับภาษาทั้งสองมาใช้ พิจารณาได้ดังนี้

1. ถ้าคำภาษาบาลีและสันสกฤตรูปร่างต่างกัน เมื่อออกเสียงเป็นภาษาไทยแล้วได้เสียงเสียงตรงกันเรามักเลือกใช้รูปคำ สันสกฤต เพราะภาษาสันสกฤตเข้ามาสู่ภาษาไทยก่อนภาษาบาลี เราจึงคุ้นกว่า เช่น
บาลี สันสกฤต ไทย
กมฺม กรฺม กรรม
จกฺก จกฺร จักร

2. ถ้าเสียงต่างกันเล็กน้อยแต่ออกเสียงสะดวกทั้งสองภาษา มักเลือกใช้รูปภาษาสันสกฤตมากกว่าภาษาบาลี เพราะเราคุ้นกว่าและเสียงไพเราะกว่า เช่น
บาลี สันสกฤต ไทย
ครุฬ ครุฑ ครุฑ
โสตฺถิ สฺวสฺติ สวัสดี

3. คำใดรูปสันสกฤตออกเสียงยาก ภาษาบาลีออกเสียงสะดวกกว่า จะเลือกใช้ภาษาบาลี เช่น
บาลี สันสกฤต ไทย
ขนฺติ กฺษานฺติ ขันติ
ปจฺจย ปฺรตฺย ปัจจัย

4. รูปคำภาษาบาลีสันสกฤตออกเสียงต่างกันเล็กน้อยแต่ออกเสียงสะดวกทั้งคู่บางทีเรานำมาใช้ทั้งสองรูปในความหมายเดียวกัน เช่น
บาลี สันสกฤต ไทย
กณฺหา กฺฤษฺณา กัณหา,กฤษณา
ขตฺติย กฺษตฺริย ขัตติยะ,กษัตริย์

5. คำภาษาบาลีสันสกฤตที่ออกเสียงสะดวกทั้งคู่ บางทีเรายืมมาใช้ทั้งสองรูป แต่นำมาใช้ในความหมายที่ต่างกัน เช่น
บาลี สันสกฤต ไทย ความหมาย
กิริยา กฺริยา กิริยา อาการของคน
กริยา ชนิดของคำ
โทส เทฺวษ โทสะ ความโกรธ
เทวษ ความเศร้าโศก

คำภาษาบาลีและสันสกฤตในวรรณคดีไทย
คำภาษาบาลีและสันสกฤตปรากฏในวรรณคดีไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนกระทั่งในสมัยปัจจุบันทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง คือ พบตั้งแต่ในศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง แม้จะมีไม่มากนักแต่ก็เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า ในสมัยสุโขทัยนั้นไทยได้นำภาษาบาลีและสันสกฤตมาใช้ในภาษาไทยของเราแล้ว และในสมัยต่อมาก็ปรากฏว่านิยมใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตในการแต่งวรรณคดีมากขึ้น
วิสัณติ์ กฏแก้ว (2529 : 2) ได้กล่าวถึงเหตุที่ทำให้คำบาลีและสันสกฤตเป็นที่นิยมชมชอบในการนำมาใช้ในทางวรรณคดีพอจะสรุปได้ดังนี้

1. วรรณคดีไทยเป็นวรรณกรรมที่ถือเอาเสียงไพเราะเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดีประเภทร้อยกรอง นอกจากจะถือเอาความไพเราะของเสียงเป็นสำคัญแล้ว ในการประพันธ์วรรณกรรมประเภทฉันท์ จะต้องถือคำ ครุ ลหุ เป็นสำคัญอีกด้วย คำที่เป็นเสียงลหุในภาษาไทยมีน้อยมาก จึงจำเป็นจะต้องใช้ศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤต เพราะสามารถเลือกคำ ลหุ ครุ ได้มากและสามารถดัดแปลงให้เข้ากับภาษาของเราได้ดี

ตัวอย่าง : สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ 19 – อิลราชคำฉันท์
ข้าขอเทิดทศนัขประณามคุณพระศรี สรรเพชญพระผู้มี พระภาค
อีกธรรมาภิสมัยพระไตรปิฏกวากย์ ทรงคุณคะนึงมาก ประมาณ

2. คนไทยถือว่าคำบาลีและสันสกฤตเป็นคำสูง เพราะเป็นคำที่ใช้เผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า และผู้ที่ใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตส่วนใหญ่อยู่ในฐานะควรแก่การเคารพบูชาทั่วไป เช่น พระสงฆ์ พราหมณ์ เป็นต้น ดังนั้นการแต่งฉันท์ที่ถือกันว่าเป็นของสูง จึงนิยมใช้คำบาลีและสันสกฤต

3. วรรณคดีไทยโดยมากมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจักรๆวงศ์ๆ ซึงจะต้องใช้คำราชาศัพท์ การใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตที่เป็นคำราชาศัพท์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเช่น พระเนตร พระพักตร์ พระกรรณ เป็นต้น

4. การใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตแต่งฉันท์ เป็นเครื่องแสดงภูมิรู้ของผู้แต่งว่ามีความรู้ภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นอย่างดี มีคนเคารพนับถือและยกย่องว่าเป็น “ปราชญ์”

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS