วลี / พยางค์

วลี หรือ กลุ่มคำ เป็นการนำคำตั้งแต่สองคำขึ้นไปมาเรียงต่อกันทำให้เกิดความหมายเพิ่มขึ้น มีความหมายมาจากคำเดิมที่นำมารวมมารวมกันแต่ไม่สมบูรณ์เหมือนประโยค วลีส่วนใหญ่มีคำกลางที่สำคัญหนึ่งคำที่เป็นตัวบ่งบอกถึงประเภทของวลี คำนั้นเรียกว่าเป็น “คำหลัก” ของวลี ดังนั้นเราสามารถแบ่งประเภทของวลีตามคำหลักของวลีได้ดังนี้คือ
นามวลี (NP) เป็นวลีที่มีคำนามเป็นคำหลักของวลี เช่น แมวบนเสื่อ, บ้านริมน้ำ
กริยาวลี (VP) เป็นวลีที่มีคำกริยาเป็นคำหลักของวลี เช่น กินข้าว, กระโดดขึ้นลง
บุพบทวลี (PP) เป็นวลีที่มีคำบุพบทเป็นคำหลักของวลี เช่น ที่สุดถนน, หน้าร้านอาหาร

พยางค์ เป็นการประสมเสียงในภาษา เพราะพยางค์เกิดจากการเปล่งเสียงสระ เสียงพยัญชนะ และเสียงวรรณยุกต์ ติดตามกันอย่างกระชั้นชิด พยางค์มีองค์ประกอบดังนี้ เสียงพยัญชนะต้น เสียงสระ เสียงวรรณยุกต์ และเสียงสะกด

เสียงพยัญชนะต้น คือ เสียงที่เปล่งออกมาก่อน บางคำจะเป็นเสียงพยัญชนะเดี่ยว บางคำจะเป็นเสียงพยัญชนะควบกล้ำก็ได้ เช่น
อ่าง (พยัญชนะต้น คือ อ)
ลิฟท์ (พยัญชนะต้น คือ ล)
ดาว (พยัญชนะต้น คือ ด)
คลอง (พยัญชนะต้น คือ คล)
ไกร (พยัญชนะต้น คือ กร)
ขวาน (พยัญชนะต้น คือ ขว) เป็นต้น

เสียงสระ คือ เสียงที่เปล่งตามติดมากับเสียงพยัญชนะ เช่น
งา (เสียงสระ อา)
ชล (เสียงสระ โอะ)
เสีย (เสียงสระ เอีย)
เกาะ (เสียงสระ เอาะ) เป็นต้น

เสียงวรรณยุกต์ คือ เสียงที่เปล่งออกมาพร้อมกับเสียงสระ เพื่อให้มีระดับเสียงสูงต่ำต่างกันไป เช่น
ใหญ่ (เสียงวรรณยุกต์ เอก)
เพื่อ (เสียงวรรณยุกต์ โท)
สี (เสียงวรรณยุกต์จัตวา) เป็นต้น

การที่เราเปล่งเสียงออกมาจากลำคอครั้งหนึ่งๆ นั้น เราเรียกเสียงที่เปล่งออกมาว่า “พยางค์” แม้ว่าเสียงที่เปล่งออกมาจะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ตาม เช่น เราเปล่งเสียง “สุ” ถึงจะไม่รู้ความหมาย หรือไม่รู้เรื่องเราก็เรียกว่า 1 พยางค์ หากเราเปล่งเสียงออกมาอีกครั้งหนึ่งว่า “กร” จะเป็น “สุกร” จึงจะมีความหมาย คำว่า “สุกร” ซึ่งเปล่งเสียง 2 ครั้ง เราก็ถือว่ามี 2 พยางค์ เสียงที่เปล่งออกมาครั้งเดียวมีความหมาย เช่น นา หมายถึง ที่ปลูกข้าว เสียงที่เปล่งออกมาว่า “นา” นี้เป็น 1 พยางค์

ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้
ไร่ มี 1 พยางค์
ชาวไร่ มี 2 พยางค์ (ชาว – ไร่)
สหกรณ์ มี 3 พยางค์ (สะ – หะ – กอน)
โรงพยาบาล มี 4 พยางค์ (โรง – พะ – ยา – บาน)
นักศึกษาผู้ใหญ่ มี 5 พยางค์ (นัก – สึก – สา – ผู้ – ใหญ่)
สหกรณ์การเกษตร มี 6 พยางค์ (สะ – หะ – กอน – กาน – กะ – เสด)

จากตัวอย่างข้างบนนี้สรุปได้ว่า
พยางค์ คือ เสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่ง จะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ตาม ถ้าเปล่งเสียงออกมา 1 ครั้ง ก็เรียก 1 พยางค์ 2 ครั้งก็เรียก 2 พยางค์ พยางค์เกิดจากการเปล่งเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ออกมาพร้อมๆ กัน พยางค์ที่มีความหมายอาจจะเป็นพยางค์เดียวหรือหลายพยางค์ก็ได้

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น