อักษรควบ หรือ คำควบกล้ำ คือ คำที่ออกเสียงครั้งละ 1 พยางค์ แต่อ่านออกเสียงเหมือน 2 พยางค์ คำควบกล้ำจะมี 2 ชนิด คือ อักษรควบแท้ และ อักษรควบไม่แท้ คำที่มีอักษรควบกล้ำชนิดที่เรียกว่า “อักษรควบแท้” แม้จะมีไม่มาก แต่ก็เป็นคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันจนเป็นความเคยชิน ตัวอย่างเช่น กรด กลด ขริบ ขลิบ ครอก คลอก ตราด ประ ปละ ผลาญ พริก พลิก
คำควบกล้ำของไทยมีขอบเขตจำกัด ในทางภาษาศาสตร์อาจจะกล่าวได้ว่า เสียงที่จะนำหน้าได้นั้นต้องเป็นเสียงแข็ง อย่าง [p t k] เท่านั้น สำหรับภาษาไทย ก็รวมทั้งเสียงที่มีลมตามออกมาด้วย ดังนี้
[p] ป [ph] พ (ผ ภ)
[t] ต (ฏ) [th] ท (ฐ ฑ ฒ ถ ธ)
[k] ก [kh] ค (ข ฃ ฅ ฆ)
** พยัญชนะที่อยู่ในวงเล็บคือพยัญชนะที่มีวิธีการออกเสียงอย่างเดียวกันกับพยัญชนะที่อยู่นอกวงเล็บ
เมื่อพิจารณาดูคำควบแท้ในภาษาไทยก็จะเห็นได้ว่า พยัญชนะที่อยู่ในวงเล็บมีคำควบกล้ำน้อยกว่าหรือไม่มีเลย ดังนี้
[pr] ประ [pl] ปละ [phr] พริก [phl] พลิก, ผลาญ
[tr] ตราด [tl] – [thr] – [thl] -
[kr] กรด [kl] กลด [khr] ขริบ, ครอก [khl] ขลิบ, คลอก
ภาษาไทยมีเสียงควบแท้ [tr] แต่ไม่มี [tl] ดังจะเห็นได้ว่า คำว่า “ตราด” เราออกเสียงควบกล้ำ แต่คำว่า “ตลาด” เราอ่านแยกเรียงพยางค์ ส่วนเสียง [thr] นั้น แต่เดิมโดนแปลงเสียงเป็น [s] หรือ [ซ] เช่น ทราย ทรุดโทรม ฯลฯ กลายเป็นคำในกลุ่มปิดกลุ่มหนึ่งของภาษาไทย ในปัจจุบันเมื่อเริ่มรับเสียงจากภาษาอังกฤษจึงเกิดเสียงควบกล้ำใหม่ เช่น ทรอย (Troy) ทริป (trip) แต่ก็ยังไม่มีเสียงควบกล้ำ [thl] คำที่มีเสียงควบแท้ทำท่าว่าจะเป็นคำในกลุ่มปิด เพราะมีสมาชิกจำกัด แต่แล้วอิทธิพลของเสียงจากภาษาอังกฤษก็ทำให้เกิดเสียงควบแท้เสียงใหม่ๆ ขึ้นมาอีก 5 เสียง คือ
[dr] ดราฟต์ (draft)
[br] บรอนซ์ (bronze) [bl] บล็อก (block)
[fr] ฟรี (free) [fl] ฟลุก (fluke)
คำในกลุ่มนี้จึงกลายเป็นกลุ่มเปิด แต่เปิดในขอบเขตจำกัด เพราะยังมีเสียงควบกล้ำแบบควบแท้อีกมากมายที่คนไทยออกเสียงไม่ถนัด ไม่ว่าจะเป็นคำจากภาษาบาลีสันสกฤต เขมร หรือภาษาอังกฤษก็ตาม เช่น เชรา [เชฺรา] (ภาษาเขมร แปลว่า ซอกผา, ห้วย) ศฤงคาร [สิงคาน, สะหฺริงคาน] (ภาษาสันสกฤต แปลว่า ความใคร่) สแลง (จากภาษาอังกฤษว่า slang) ขอให้สังเกตว่า คนไทยไม่สามารถจะออกเสียง ช ช้าง ควบกับ ร เรือ ได้ ในกรณีของ “ศฤ” หรือ “สร” ก็ไม่สามารถจะควบกล้ำได้ ต้องใช้วิธีตัดเสียงหรือแทรกเสียงอะ ส่วนเสียง [sl] นั้น คนไทยก็ควบกล้ำไม่ได้ ต้องแทรกเสียงอะ เช่นกัน
ในขณะที่คำควบกล้ำแท้มีลักษณะทั้งปิดและเปิด แต่คำควบกล้ำไม่แท้น่าจะเป็นกลุ่มปิด เพราะมีคำเพียงไม่กี่คำที่อยู่ในกลุ่มนี้ และแทบจะไม่มีคำเพิ่ม เช่น จริง ไซร้ ศรัทธา ศรี เศร้า สรง สรวง สรวม สรวย สรวล สร้อย สระ (น้ำ) สร้าง เสริม
คำเหล่านี้ล้วนแต่อ่านออกเสียงโดยไม่มีเสียง ร เรือ ควบ ทั้งสิ้น คำในกลุ่มนี้นอกจากจะไม่มีสมาชิกเพิ่มแล้ว ในปัจจุบันยังเกิดปรากฏการณ์ ๒ อย่าง คือ อย่างแรก มีผู้ตัดตัว ร เรือ ทิ้งไป เพราะเห็นว่าไม่ได้ออกเสียงแล้ว เช่น เขียน “จริง” เป็น “จิง” เช่นเดียวกับที่ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันเปลี่ยนรูปการเขียนจาก through เป็น thru อย่างที่สอง บางคนก็เพิ่มเสียงอะลงไป เช่น อ่านคำ “แม่สรวย” เป็น [แม่-สะ-รวย]
อักษรควบ
อักษรนำ
อักษรนำ คือ คำที่มีพยัญชนะ 2 ตัวเรียงกัน ประสมด้วยสระตัวเดียวกัน พยัญชนะตัวแรกของคำจะต้องเป็นอักษรสูงหรืออักษรกลาง จะอ่านออกเสียง “อะ” เพียงกึ่งเสียง พยัญชนะตัวหลังจะต้องเป็นอักษรต่ำเดี่ยว จะออกเสียงตามเสียงสระที่ประสม และจะอ่านออกเสียงวรรณยุกต์ตามเสียงพยัญชนะตัวแรก พยัญชนะ 2 ตัวเรียงกันร่วมสระผันในหลักภาษา
อักษรสูงอักษรกลางนำพา
อักษรตัวหน้าเรียก “อักษรนำ”
อักษรตัวตามอักษรต่ำเดี่ยว เสียงที่ข้องเกี่ยวมันดูลึกล้ำ เหมือนมีตัว “ห” มานำทุกคำ
อักษรสูงนำอักษรต่ำเดี่ยว
ผนวช (ผะ –หนวด) ตัวเดียวเสียงก็เปลี่ยนไป ไม่ใช่ ผะ – นวด อย่างที่เคยใช้ เสียง “น” เปลี่ยนไปตามอักษรนำ
อักษรกลางนำอักษรต่ำเดี่ยว
ตลาด (ตะ – หลาด) ตัวเดียวเสียงก็เปลี่ยนคำ ไม่ใช่ ตะ – ลาด อย่างที่เคยทำ แต่สบาย (สะ – บาย) ไม่ใช่อักษรนำ เมื่อแยกคำอ่าน สะ –บาย คงที่เสียง “อะ” ไม่ประวิสรรชนีย์ กึ่งเสียงเท่านี้ไม่มี “ห” นำ หากตัว “ห” นำอักษรต่ำเดี่ยว เสียง “อะ” ไม่เกี่ยวกลมเกลียวทุกคำ เสียงที่เปลี่ยนไปคืออักษรต่ำ
การออกเสียง จะออกเสียงพยัญชนะสองตัวผสมกันคนละครึ่ง พอแยกออกได้ว่าพยัญชนะอะไรผสมกัน แต่การผสมนี้จะไม่สนิทเท่าอักษรควบแท้ มียกเว้นอยู่ 2 กรณีที่จะไม่ออกเสียงพยัญชนะอีกตัว ได้แก่
ตัว ห เมื่อเป็นตัวนำอักษรเดี่ยว ไม่ต้องออกเสียงคนละครึ่งเหมือนอักษรนำอื่น ๆ แต่ให้ออกเสียงประสมกันสนิทเหมือนอักษรควบแท้ เช่น หนู หมอ ใหญ่ ฯลฯ
ตัว อ เมื่อนำหน้า ตัว ย ไม่ต้องออกเสียงเหมือนอักษรนำธรรมดา ให้ออกเสียงทำนองเดียวกับ ห นำ แต่เป็นเสียงอักษรกลาง คือ อย่า อยู่ อย่าง อยาก มี 4 คำเท่านั้น
ถ้าพยัญชนะข้างหน้าเป็นอักษรกลางหรืออักษรสูง แล้วพยัญชนะข้างหลังเป็นอักษรต่ำที่เป็นอักษรเดี่ยว เวลาอ่านให้ผันเสียงอักษรต่ำนั้นเป็นเสียงสูงตามอักษรที่เป็นตัวนำ แต่ถ้าพยัญชนะข้างหน้าเป็นอักษรต่ำ หรือพยัญชนะข้างหลังไม่ใช่อักษรต่ำที่เป็นอักษรเดี่ยว ให้อ่านออกเสียงพยัญชนะนั้นตามปกติเมื่ออกเสียงจะต้องมีคำควบกล้ำผสมอยู่ด้วย
วิธีสังเกตอักษรนำ
1. สังเกตเสียงออกเสียงประสมกันแต่ไม่กล้ำกันสนิทเหมือนอักษรควบแท้ สามารถแยกเป็นสองพยางค์ได้ ยกเว้น ห และ อ ที่เป็นตัวนำ (อักษรนำที่ ห และ อ นำนั้นเป็นอักษรนำ แต่ไม่อ่านแบบอักษรนำ)
2. คำที่มีสระหน้าหรือสระคร่อม (สระหน้า-บน-หลัง) คำที่มีอักษรนำส่วนใหญ่จะอยู่ติดกับอักษรหลัก และรูปสระล้อมรอบอยู่ด้านนอก เช่น เฉลย แสลง (สะ-แหลง) ไฉน เสมียน เถลิง เสลา ฯลฯ มีส่วนน้อยที่อักษรแยกจากกันเช่น ขโมย ทแยง สแลง (สะ-แลง)
3. สังเกตรูปพยัญชนะ คือ ถ้าอักษรนำเป็นอักษรสูง หรืออักษรกลาง อักษรเดี่ยวซึ่งเป็นตัวที่ 2 จะต้องออกเสียงเป็นเสียงสูงหรือกลางตามไปด้วย เช่น กนก ถนน สนิม ขนม ฯลฯ ในที่นี้ นก นน และ นิม ต้องออกเสียงให้เป็น หนก หนน หนิม ซึ่งผิดกับเมื่ออยู่ตามลำพัง
คำบาลี – สันสกฤต
ลักษณะของภาษาบาลีและสันสกฤต
ภาษาบาลีและสันสกฤตอยู่ในตระกูลภาษาที่มีวิภัตปัจจัย คือเป็นภาษาที่ที่มีคำเดิมเป็นคำธาตุ เมื่อจะใช้คำใดจะต้องนำธาตุไปประกอบกับปัจจัยและวิภัตติ เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกพจน์ เช่น ลึงค์ บุรุษ กาล มาลา วาจก
โครงสร้างของภาษา ประกอบด้วย ระบบเสียง หน่วยคำ และระบบโครงสร้างของประโยค ภาษาบาลีและสันสกฤตมีหน่วยเสียง 2 ประเภท คือ หน่วยเสียงสระและหน่วยเสียงพยัญชนะ ดังนี้
1.หน่วยเสียงสระ
หน่วยเสียงสระภาษาบาลีมี 8 หน่วยเสียง คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
หน่วยเสียงภาษาสันสกฤต ตรงกับภาษาบาลี 8 หน่วยเสียง และต่างจากภาษาบาลีอีก 6 หน่วยเสียง เป็น 14 หน่วยเสียง คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ไอ เอา ฤ ฤา ฦ ฦๅ
2.หน่วยเสียงพยัญชนะ
หน่วยเสียงพยัญชนะภาษาบาลีมี 33 หน่วยเสียง
หนเวยเสียงภาษาสันสกฤตมี 35 หน่วยเสียง เพิ่มหน่วยเสียง ศ ษ ซึ่งหน่วยเสียงพยัญชนะทั้งสิงภาษานี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ พยัญชนะวรรค และพยัญชนะเศษวรรค
วิธีสังเกตคำบาลี
1. สังเกตจากพยัญชนะ ตัวสะกด และตัวตาม
ตัวสะกด คือ พยัญชนะที่ประกอบอยู่ข้างท้ายสระ ประสมกับสระและพยัญชนะต้น เช่น ทุกข์
ตัวตาม คือ ตัวที่ตามหลังตัวสะกด เช่น สัตย สัจจ ทุกข เป็นต้น
คำในภาษาบาลีจะต้องมีสะกดและตัวตามเสมอ โดยดูจากพยัญชนะบาลี มี 33 ตัว แบ่งออกเป็นวรรคดังนี้
แถวที่ 1 2 3 4 5
วรรค กะ ก ข ค ฆ ง
วรรค จะ จ ฉ ช
ฌ ญ
วรรค ฏะ ฎ ฐ ฑ ฒ ณ
วรรค ตะ ต ถ ท ธ น
วรรค ปะ ป ผ พ ถ ม
เศษวรรค ย ร ล ว ส ห ฬ อัง
มีหลักสังเกต ดังนี้
ก. พยัญชนะตัวที่ 1 , 3 , 5 เป็นตัวสะกดได้เท่านั้น (ต้องอยู่ในวรรคเดียวกัน)
ข. ถ้าพยัญชนะตัวที่ 1 สะกด ตัวที่ 1 หรือตัวที่ 2 เป็นตัวตามได้ เช่น สักกะ ทุกข สัจจ ปัจฉิม สัตต หัตถ บุปผา เป็นต้น
ค. ถ้าพยัญชนะตัวที่ 3 สะกด ตัวที่ 3 หรือ 4 เป็นตัวตามได้ในวรรคเดียวกัน เช่น อัคคี พยัคฆ์ วิชชา อัชฌา พุทธ คพภ(ครรภ์)
ง. ถ้าพยัญชนะตัวที่ 5 สะกดทุกตัวในวรรคเดียวกันตามได้ เช่น องค์ สังข์ องค์ สงฆ์ สัมปทาน สัมผัส สัมพันธ์ สมภาร เป็นต้น
จ. พยัญชนะบาลี ตัวสะกดตัวตามจะอยู่ในวรรคเดียวกันเท่านั้นจะข้ามไปวรรคอื่นไม่ได้
2. สังเกตจากพยัญชนะ “ฬ” จะมีใช้ในภาษาบาลีในไทยเท่านั้น เช่น จุฬา ครุฬ อาสาฬห์ วิฬาร์ โอฬาร์ พาฬ เป็นต้น
3. สังเกตจากตัวตามในภาษาบาลี จะมาเป็นตัวสะกดในภาษาไทยโดยเฉพาะวรรค ฎ และวรรคอื่นๆบางตัว จะตัดตัวสะกดออกเหลือแต่ตัวตามเมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย เช่น
ภาษาบาลี ภาษาไทย
รัฎฐ รัฐ
ทิฎฐิ ทิฐิ
อัฎฐิ อัฐิ
วัฑฒนะ วัฒนะ
ปุญญ บุญ
วิชชา วิชา
สัตต สัต
เวชช เวช
กิจจ กิจ
เขตต เขต
นิสสิต นิสิต
นิสสัย นิสัย
ยกเว้นคำโบราณที่นำมาใช้แล้วไม่ตัดรูปคำซ้ำออก เช่น ศัพท์ทางศาสนา ได้แก่ วิปัสสนา จิตตวิสุทธิ์ กิจจะลักษณะ เป็นต้น
วิธีสังเกตคำสันสกฤต
1. พยัญชนะสันกฤตมี 35 ตัว คือ พยัญชนะบาลี 33 ตัว + 2 ตัวคือ ศ, ษ ฉะนั้นจึงสังเกตจากตัว ศ, ษ มักจะเป็นภาษาสันสกฤต เช่น กษัตริย์ ศึกษา เกษียร พฤกษ์ ศีรษะ เป็นต้น ยกเว้นคำไทยบางคำที่ใช้เขียนด้วยพยัญชนะทั้ง 2 ตัวนี้ เช่น ศอก ศึก ศอ เศร้า ศก ดาษ กระดาษ ฝรั่งเศส ฝีดาษ ฯลฯ
2. ไม่มีหลักการสะกดแน่นอน ภาษาสันสกฤตตัวสะกดตัวตามจะอยู่ข้ามวรรคกันได้ ไม่กำหนดตายตัว เช่น อัปสร เกษตร ปรัชญา อักษร เป็นต้น
3. สังเกตจากสระ สระในภาษาบาลี มี 8 ตัว คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ส่วนสันสกฤต คือ สระภาษาบาลี 8 ตัว + เพิ่มอีก 6 ตัว คือ สระ ฤ ฤา ภ ภา ไอ เอา
ถ้ามีสระเหล่านี้อยู่และสะกดไม่ตรงตามมาตราจะเป็นภาษาสันสกฤต เช่น ตฤณมัย ไอศวรรย์ เสาร์ ไปรษณีย์ ฤาษี คฤหาสน์ เป็นต้น
4. สังเกตจากพยัญชนะควบกล้ำ ภาษาสันสกฤตมักจะมีคำควบกล้ำข้างท้าย เช่น จักร อัคร บุตร สตรี ศาสตร์ อาทิตย์ จันทร์ เป็นต้น
5. สังเกตจากคำที่มีคำว่า “เคราะห์” มักจะเป็นภาษาสันสกฤต เช่น เคราะห์ พิเคราะห์ สังเคราะห์ อนุเคราะห์ เป็นต้น
6. สังเกตจากคำที่มี “ฑ” อยู่ เช่น จุฑา กรีฑา ครุฑ มณเทียร จัณฑาล เป็นต้น
7. สังเกตจากคำที่มี “รร” อยู่ เช่น สรรค์ ธรรม์ วรรณ บรรพต ภรรยา บรรณารักษ์ มรรยาท กรรม ทรรศนะ สรรพ เป็นต้น
ลักษณะการยืมคำภาษาบาลีและสันสกฤต
ภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นภาษาตระกูลเดียวกัน ลักษณะภาษาและโครงสร้างอย่างเดียวกัน ไทยเรารับภาษาทั้งสองมาใช้ พิจารณาได้ดังนี้
1. ถ้าคำภาษาบาลีและสันสกฤตรูปร่างต่างกัน เมื่อออกเสียงเป็นภาษาไทยแล้วได้เสียงเสียงตรงกันเรามักเลือกใช้รูปคำ สันสกฤต เพราะภาษาสันสกฤตเข้ามาสู่ภาษาไทยก่อนภาษาบาลี เราจึงคุ้นกว่า เช่น
บาลี สันสกฤต ไทย
กมฺม กรฺม กรรม
จกฺก จกฺร จักร
2. ถ้าเสียงต่างกันเล็กน้อยแต่ออกเสียงสะดวกทั้งสองภาษา มักเลือกใช้รูปภาษาสันสกฤตมากกว่าภาษาบาลี เพราะเราคุ้นกว่าและเสียงไพเราะกว่า เช่น
บาลี สันสกฤต ไทย
ครุฬ ครุฑ ครุฑ
โสตฺถิ สฺวสฺติ สวัสดี
3. คำใดรูปสันสกฤตออกเสียงยาก ภาษาบาลีออกเสียงสะดวกกว่า จะเลือกใช้ภาษาบาลี เช่น
บาลี สันสกฤต ไทย
ขนฺติ กฺษานฺติ ขันติ
ปจฺจย ปฺรตฺย ปัจจัย
4. รูปคำภาษาบาลีสันสกฤตออกเสียงต่างกันเล็กน้อยแต่ออกเสียงสะดวกทั้งคู่บางทีเรานำมาใช้ทั้งสองรูปในความหมายเดียวกัน เช่น
บาลี สันสกฤต ไทย
กณฺหา กฺฤษฺณา กัณหา,กฤษณา
ขตฺติย กฺษตฺริย ขัตติยะ,กษัตริย์
5. คำภาษาบาลีสันสกฤตที่ออกเสียงสะดวกทั้งคู่ บางทีเรายืมมาใช้ทั้งสองรูป แต่นำมาใช้ในความหมายที่ต่างกัน เช่น
บาลี สันสกฤต ไทย ความหมาย
กิริยา กฺริยา กิริยา อาการของคน
กริยา ชนิดของคำ
โทส เทฺวษ โทสะ ความโกรธ
เทวษ ความเศร้าโศก
คำภาษาบาลีและสันสกฤตในวรรณคดีไทย
คำภาษาบาลีและสันสกฤตปรากฏในวรรณคดีไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนกระทั่งในสมัยปัจจุบันทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง คือ พบตั้งแต่ในศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง แม้จะมีไม่มากนักแต่ก็เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า ในสมัยสุโขทัยนั้นไทยได้นำภาษาบาลีและสันสกฤตมาใช้ในภาษาไทยของเราแล้ว และในสมัยต่อมาก็ปรากฏว่านิยมใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตในการแต่งวรรณคดีมากขึ้น
วิสัณติ์ กฏแก้ว (2529 : 2) ได้กล่าวถึงเหตุที่ทำให้คำบาลีและสันสกฤตเป็นที่นิยมชมชอบในการนำมาใช้ในทางวรรณคดีพอจะสรุปได้ดังนี้
1. วรรณคดีไทยเป็นวรรณกรรมที่ถือเอาเสียงไพเราะเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดีประเภทร้อยกรอง นอกจากจะถือเอาความไพเราะของเสียงเป็นสำคัญแล้ว ในการประพันธ์วรรณกรรมประเภทฉันท์ จะต้องถือคำ ครุ ลหุ เป็นสำคัญอีกด้วย คำที่เป็นเสียงลหุในภาษาไทยมีน้อยมาก จึงจำเป็นจะต้องใช้ศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤต เพราะสามารถเลือกคำ ลหุ ครุ ได้มากและสามารถดัดแปลงให้เข้ากับภาษาของเราได้ดี
ตัวอย่าง : สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ 19 – อิลราชคำฉันท์
ข้าขอเทิดทศนัขประณามคุณพระศรี สรรเพชญพระผู้มี พระภาค
อีกธรรมาภิสมัยพระไตรปิฏกวากย์ ทรงคุณคะนึงมาก ประมาณ
2. คนไทยถือว่าคำบาลีและสันสกฤตเป็นคำสูง เพราะเป็นคำที่ใช้เผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า และผู้ที่ใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตส่วนใหญ่อยู่ในฐานะควรแก่การเคารพบูชาทั่วไป เช่น พระสงฆ์ พราหมณ์ เป็นต้น ดังนั้นการแต่งฉันท์ที่ถือกันว่าเป็นของสูง จึงนิยมใช้คำบาลีและสันสกฤต
3. วรรณคดีไทยโดยมากมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจักรๆวงศ์ๆ ซึงจะต้องใช้คำราชาศัพท์ การใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตที่เป็นคำราชาศัพท์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเช่น พระเนตร พระพักตร์ พระกรรณ เป็นต้น
4. การใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตแต่งฉันท์ เป็นเครื่องแสดงภูมิรู้ของผู้แต่งว่ามีความรู้ภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นอย่างดี มีคนเคารพนับถือและยกย่องว่าเป็น “ปราชญ์”
คำสมาส – คำสนธิ
คำสมาส - การย่นนามศัพท์ตั้งแต่สองคำขึ้นไปให้เป็นคำเดียวในภาษาบาลีและสันสกฤต การสร้างคำสมาสในภาษาไทยได้แบบอย่างมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต โดยนำคำบาลี-สันสกฤตตั้งแต่ 2 คำมาต่อกันหรือรวมกัน
ลักษณะของคำสมาสเป็นดังนี้
1. เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี-สันสกฤตเท่านั้น คำที่มาจากภาษาอื่นๆ นำมาประสมกันไม่นับเป็นคำสมาส
ตัวอย่างคำสมาส : บาลี + บาลี เช่น อัคคีภัย วาตภัย โจรภัย อริยสัจ ขัตติยมานะ อัจฉริยบุคคล
สันสกฤต + สันสกฤต เช่น แพทยศาสตร์ วีรบุรุษ วีรสตรี สังคมวิทยา ศิลปกรรม
บาลี + สันสกฤต, สันสกฤต + บาลี เช่น หัตถศึกษา นาฎศิลป์ สัจธรรม สามัญศึกษา
2. คำที่รวมกันแล้วไม่เปลี่ยนแปลงรูปคำแต่อย่างใด เช่น
วัฒน + ธรรม = วัฒนธรรม
สาร + คดี = สารคดี
พิพิธ + ภัณฑ์ = พิพิธภัณฑ์
กาฬ + ปักษ์ = กาฬปักษ์
ทิพย + เนตร = ทิพยเนตร
โลก + บาล = โลกบาล
เสรี + ภาพ = เสรีภาพ
สังฆ + นายก = สังฆนายก
3. คำสมาสเมื่อออกเสียงต้องต่อเนื่องกัน เช่น
ภูมิศาสตร์ อ่านว่า พู-มิ-สาด
เกียรติประวัติ อ่านว่า เกียด-ติ-ประ-หวัด
เศรษฐการ อ่านว่า เสด-ถะ-กาน
รัฐมนตรี อ่านว่า รัด-ถะ-มน-ตรี
เกตุมาลา อ่านว่า เก-ตุ-มา-ลา
4. คำที่นำมาสมาสกันแล้ว ความหมายหลักอยู่ที่คำหลัง ส่วนความรองจะอยู่ข้างหน้า เช่น
ยุทธ (รบ) + ภูมิ (แผ่นดิน สนาม) = ยุทธภูมิ (สนามรบ)
หัตถ (มือ) + กรรม (การงาน) = หัตถกรรม (งานฝีมือ)
คุรุ (ครู) + ศาสตร์ (วิชา) = คุรุศาสตร์ (วิชาครู)
สุนทร (งาม ไพเราะ) + พจน์ (คำกล่าว)= สุนทรพจน์ (คำกล่าวที่ไพเราะ)
5. คำสมาสบางคำเรียงลำดับคำอย่างไทย คือ เรียงต้นศัพท์ไว้หน้า ศัพท์ประกอบไว้หลัง การเขียนคำสมาสเหล่านี้ไม่ประวิสรรชนีย์ระหว่างคำ แต่เมื่ออ่านจะออกเสียงสระต่อเนื่องกัน เช่น
บุตรภรรยา (บุด-ตระ-พัน-ระ-ยา) = บุตรและภรรยา
6. คำสมาสส่วนมากออกเสียงสระตรงพยางค์ท้ายของคำหน้า เช่น
กาลสมัย ( กาน- ละ – สะ -ไหม )
7. คำบาลีสันสกฤตที่มีคำว่า “พระ” ที่แผลงมาจาก “วร” ประกอบข้างหน้า จัดเป็นคำสมาสด้วย เช่น พระโอรส พระอรหันต์
8. คำสมาสบางพวกจะมีลักษณะรูปคำรูปหนึ่งคล้ายกัน เช่น
– คำที่ลงท้ายด้วยศาสตร์ เช่น นิติศาสตร์ อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์
- คำที่ลงท้ายด้วยภัย เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย
– คำที่ลงท้ายด้วยกรรม เช่น นิติกรรม นวัตกรรม กสิกรรม
คำสนธิ -คำสนธิในภาษาไทย หมายถึง คำที่มาจากภาษาบาลี – สันสกฤตมาเชื่อมต่อกัน ทำให้เสียงพยางค์หลังของคำแรกกลมกลืนกันกับเสียงพยางค์แรกของคำหลัง
1. สระสนธิ คือ การกลมกลืนคำด้วยเสียงสระ เช่น
วิทย+อาลัย = วิทยาลัย
พุทธ+อานุภาพ = พุทธานุภาพ
มหา+อรรณพ = มหรรณพ
นาค+อินทร์ = นาคินทร์
มัคค+อุเทศก์ = มัคคุเทศก์
พุทธ+โอวาท = พุทโธวาท
รังสี+โอภาส = รังสิโยภาส
ธนู+อาคม = ธันวาคม
2. พยัญชนะสนธิ เป็นการกลมกลืนเสียงระหว่างพยัญชนะกับพยัญชนะ ซึ่งไม่ค่อยมีใช้ในภาษาไทย เช่น
รหสฺ + ฐาน = รโหฐาน
มนสฺ + ภาว = มโนภาว (มโนภาพ)
ทุสฺ + ชน = ทุรชน
นิสฺ + ภย = นิรภัย
3. นฤคหิตสนธิ ได้แก่ การเชื่อมคำที่ขึ้นต้นด้วยนฤคหิต หรือพยางค์ท้ายของคำหน้าเป็นนฤคหิตกับคำอื่นๆ เช่น
สํ + อุทัย = สมุทัย
สํ + อาคม = สมาคม
สํ + ขาร = สังขาร
สํ + คม = สังคม
สํ + หาร = สังหาร
สํ + วร = สังวร
คำเป็น – คำตาย และ คำครุ – คำลหุ
คำเป็น หมายถึง คำหรือพยางค์ในภาษาไทยที่มีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
คำหรือพยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงยาวในแม่ ก กา เช่น มา นี มี ตา มา ดู ปู ฯลฯ
คำหรือพยางค์ที่มีตัวสะกดในแม่ กง กน กม เกย เกอว เช่น กลาง คืน ลืม เลย เชียว ฯลฯ
คำหรือพยางค์ที่ประสมด้วยสระ อำ ใอ ไอ เอา เช่น ทำ ใจ ไป เอา ฯลฯ
คำตาย หมายถึง คำหรือพยางค์ในภาษาไทยที่มีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
คำหรือพยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก กา แต่ยกเว้นสระอำ ไอ ใอ เอา เช่น สุ จิ ปุ ลิ ฯลฯ
คำหรือพยางค์ที่มีตัวสะกดในแม่ กก กด กบ เช่น ยก ทัพ ตัด บท ฯลฯ
ครุ (เอก) คือ พยางค์ที่มีเสียงหนัก ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงยาว (ทีฆสระ) และ สระเกินทั้ง 4 คือ สระอำ ใอ ไอ เอา และพยางค์ที่มีตัวสะกดทั้งสิ้น เช่น ตา ดำ หัด เรียน ฯลฯ
ครุ (เสียงหนัก) เป็นพยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงยาวในมาตราแม่ ก.กา และมีตัวสะกดรวมทั้งประสมด้วยสระอำ ไอ ใอ เอา เช่น จำ ได้ ไป เขา รัก ลูก
คำครุ แปลว่า เสียงหนัก ประกอบด้วย
พยางค์ที่มีสระเสียงยาวไม่มีตัวสะกด เช่น มาหา พารา
พยางค์ที่มีตัวสะกดทั้ง 8 แม่ เช่น รัก ชิด ชอบ ฯลฯ
พยางค์ที่มีสระ อำ ไอ ใอ เอา เช่น เรา จำ ใจ ไป
ลหุ (โท) คือ พยางค์ที่มีเสียงเบา ได้แก่พยางค์ที่ประกอบด้วยสระสั้น(รัสสระ) ที่ไม่มีตัวสะกด เช่น พระ จะ มิ ดุ แกะ ฯลฯ
ลหุ (เสียงเบา) คำที่มีเสียงเบาเป็นพยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงสั้น เช่น จะ ดุ ติ ผิว กระทะ ฤ
คำลหุ แปลว่า เสียงเบา ประกอบด้วย
พยางค์ที่มีสระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกด เช่น มะลิ ชิชะ ก็ เถอะ
พยางค์ที่มีตัวพยัญชนะตัวเดียว เช่น ณ บ ธ
ครุ-ลหุ มีสัญลักษณ์แทนดังนี้ั
เอก คือ พยางค์หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์เอก และบรรดาคำตายทั้งสิ้น ซึ่งในโคลง และร่าย ใช้เอกแทนได้ เช่น พ่อ แม่ พี่ ปู่ ชิ ชะ มัก มาก ฯลฯ
โท คือ พยางค์หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์โท เช่น น้า ป้า ช้าง นี้น้อง ต้อง เลี้ยว ฯลฯ
เอก-โท ที่บังคับด้วยรูปวรรณยุกต์ เอก โท นิยมใช้กับคำประพันธ์ประเภทร่าย โคลง
พยัญชนะ
พยัญชนะไทยมีทั้งหมด 44 รูป
ก ข ฃ ค ฅ
ฆ ง จ ฉ ช
ซ ฌ ญ ฎ ฏ
ฐ ฑ ฒ ณ ด
ต ถ ท ธ น
บ ป ผ ฝ พ
ฟ ภ ม ย ร
ล ว ศ ษ ส
ห ฬ อ ฮ
1. ก
2. ข ฃ ค ต ฆ
3. ง
4. จ
5. ฉ ช ฌ
6. ซ ศ ษ ส
7. ญ ย
8. ฎ ด กับเสียง
9. ฑ บางคำ
10. ฏ ต
11. ฐ ถ ฑ ฒ ท ธ
12. น ณ
13. บ
14. ป
15. ผ พ ภ
16. ฝ ฟ
17. ม
18. ร
19. ล ฬ
20. ว
21. ห ฮ
22. เสียง อ ไม่นับ
เสียงพยัญชนะ
พยัญชนะเสียงสูง : ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห
พยัญชนะเสียงกลาง : ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ
พยัญชนะเสียงต่ำ : ค ฅ ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ ฮ
ไตรยางศ์
ไตรยางศ์ มาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า ตฺรยฺ ซึ่งแปลว่า สาม รวมกับ อํศ ซึ่งแปลว่า ส่วน ดังนั้นไตรยางศ์ จึงแปลรวมกันได้ว่า สามส่วน การจัดหมวดหมู่ไตรยางศ์
เพื่อแบ่งพยัญชนะไทยออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
พยัญชนะเสียงสูงมี 11 ตัว เเละผันได้เสียงที่ 5, 2 เเละ 3
อักษรสูง หมายถึง พยัญชนะที่ยังไม่ได้ผันวรรณยุกต์ แล้วมีเสียงอยู่ในระดับสูง มีทั้งหมด 11 ตัว
วิธีท่องจำง่ายๆ : ผ ฝ ถ ฐ ข ฃ ศ ษ ส ห ฉ (ผี ฝาก ถุง ขาว สาร ให้ ฉัน)
พยัญชนะเสียงกลางมี 24 ตัว เเละผันได้ทั้งหมด 5 เสียง
อักษรกลาง หมายถึง พยัญชนะที่ยังไม่ได้ผันวรรณยุกต์ แล้วมีเสียงอยู่ในระดับกลาง มีทั้งหมด 9 ตัว
วิธีท่องจำง่ายๆ : ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป อ (ไก่ จิก เด็ก ตาย เด็ก ตาย บน ปาก โอ่ง) การผันวรรณยุกต์กับอักษรกลางผันได้ครบ 5 เสียง ใช้วรรณยุกต์ได้ 4 รูป
พยัญชนะเสียงต่ำมี 9 ตัว เเละผันได้เสียงที่ 1, 3 เเละ 4
อักษรต่ำ หมายถึง พยัญชนะที่ยังไม่ได้ผันวรรณยุกต์ แล้วมีเสียงอยู่ในระดับต่ำ มีทั้งหมด 24 ตัว
• ต่ำคู่ มีเสียงคู่อักษรสูง 14 ตัว พ ภ ฟ ฑ ฒ ท ธ ค ต ฆ ซ ฮ ช ฌ
• ต่ำเดี่ยว(ไร้คู่) 10 ตัว
วิธีท่องจำง่ายๆ : ง ญ น ย ณ ร ว ม ฬ ล (งู ใหญ่ นอน อยู่ ณ ริม วัด โม ฬี โลก)
หน้าที่ของพยัญชนะ
1. เป็นพยัญชนะต้นกา
2. เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธ์ ก ป ส กล ส พ เป็นพยัญชนะต้น
3. ทำหน้าที่เป็นพยัญชนะท้ายพยางค์ (ตัวสะกด) เกิด เป็น ชาย หมาย รัก นี้ หนัก อก (พยัญชนะที่ขีดเส้นใต้เป็นพยัญชนะท้ายพยางค์หรือท้ายคำ เรียกว่าตัวสะกด)
4. ทำหน้าที่เป็นอักษรควบ
5. ทำหน้าที่เป็นอักษรนำ-อักษรตาม
6. ทำหน้าที่เป็นเป็นสระ (อ ว ย ร)
7. ทำหน้าที่เป็นตัวการันต์
พยัญชนะตัวสะกด
พยัญชนะตัวสะกดมีทั้งสิ้น 39 ตัวเท่านั้นที่สามารถใช้เป็นตัวสะกดได้ โดยแบ่งเป็น 8 เสียงเรียกว่ามาตราตัวสะกด 8 มาตราดังนี้
• แม่กก ออกเสียงสะกด ก ซึ่งจะใช้พยัญชนะ ก ข ค ฆ เป็นตัวสะกด เช่น นก เลข โรค เมฆ
• แม่กด ออกเสียงสะกด ด ซึ่งจะใช้พยัญชนะ ด ต ถ ท ธ ฎ ฏ ฐ ฒ จ ช ซ ศ ษ ส เป็นตัวสะกด เช่น เปิด จิต รถ บาท โกรธ กฎ ปรากฏ เท็จ บงกช ก๊าซ อากาศ พิเศษ โอกาส อิฐ
• แม่กบ ออกเสียงสะกด บ ซึ่งจะใช้พยัญชนะ บ ป พ ภ ฟ เป็นตัวสะกด เช่น ดาบ บาป ภาพ กราฟ โลภ
• แม่กน ออกเสียงสะกด น ซึ่งจะใช้พยัญชนะ น ร ญ ล ฬ เป็นตัวสะกด เช่น แขน คูณ บุญ อาหาร กล ปลาวาฬ
• แม่กง ออกเสียงสะกด ง ซึ่งจะใช้พยัญชนะ ง เป็นตัวสะกด เช่น จริง วิ่ง ลิง สิงห์ พิง มุ่ง สั่ง
• แม่กม ออกเสียงสะกด ม ซึ่งจะใช้พยัญชนะ ม เป็นตัวสะกด เช่น นม ดม ลม พรม สม ชิม แยม
• แม่เกย ออกเสียงสะกด ย ซึ่งจะใช้พยัญชนะ ย เป็นตัวสะกด เช่น ยาย เนย เคย เลย คุย
• แม่เกอว ออกเสียงสะกด ว ซึ่งจะใช้พยัญชนะ ว เป็นตัวสะกด เช่น สิว หิว วัว
พยัญชนะควบกล้ำ
พยัญชนะควบกล้ำ คือ พยัญชนะ 2 ตัวประสมสระเดียวกันมี ร ล ว แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
• ควบกล้ำแท้ เป็นพยัญชนะควบกล้ำที่ออกเสียงพร้อมกันทั้ง 2 ตัว เช่น
ควบด้วย ร กรอบ กราบ เกรง ครอบครัว
ควบด้วย ล กล้วย กลีบ ไกล แปลง
ควบด้วย ว ไกว แกว่ง ควาย ขว้าง
• ควบกล้ำไม่แท้ เป็นพยัญชนะที่เขียนเหมือนควบกล้ำแท้ ร แต่ออกเสียงเพียงตัวเดียว เช่น จริง สร้าง สระ เศร้า แสร้ง ศรี อ่านว่า (จิง) (ส้าง) (สะ) (เส้า) (แส้ง) (สี)
ตัวอย่างคำอักษรควบแท้และไม่แท้
กราดเกรี้ยวเกลียวคลื่นคล้าย
ปลุกปลอบควายคลายโกรธเกรี้ยว
ตรวจตรากล้าจริงเพรียว
ขวักไขว่คว่ำกล้ำกลบคลอง
ทรายเศร้าเคล้าคลึงศรี
ทราบโทรมตรีปลีกล้วยพร่อง
ครึ้มครึกตริตรึกตรอง
เปล่าพลิกกลองแปรเปลี่ยนแปลง
อักษรนำ-อักษรตาม
อักษรนำ คือ พยัญชนะ 2 ตัวเรียงกัน ประสมสระเดียว พยัญชนะตัวแรกของคำแบ่งตามลักษณะการอ่านได้ 2 ชนิด คือ
• อ่านออกเสียงร่วมกันสนิทเป็นพยางค์เดียวกันเมื่อมีตัว ห และ ตัว อ เป็นอักษรนำ
ตัวอย่าง : เมื่อมีตัว ห เป็นอักษรนำ เช่น หรู หรา หญิง เหลือ หลาย เหลว ไหล (หรู หรา – หรูหรา – ห อักษรสูง นำ ร อักษรต่ำ ออกเสียงวรรณยุกต์ตาม ห) (หญิง หญ้า ใหญ่ – หยิง – ห อักษรสูง นำ ญ อักษรต่ำ ออกเสียงวรรณยุกต์ตาม ห)
ตัวอย่าง : เมื่อมีตัว อ เป็นอักษรนำ ย มี 4 คำ คือ อย่า อยู่ อย่าง อยาก
(อย่า อยู่ อย่าง อยาก – หย่า หยู่ หย่าง หยาก – อ อักษรกลาง นำ ย อักษรต่ำ ออกเสียงวรรณยุกต์ตาม อ)
• อ่านออกเสียงเป็น 2 พยางค์ โดยพยางค์แรกอ่านออกเสียงเหมือนมีสระอะ ประสมอยู่กึ่งเสียง ส่วนพยางค์หลังอ่านตามสระที่ประสมอยู่ และอ่านออกเสียงวรรณยุกต์ตามพยัญชนะตัวแรก เช่น
ขยับ ขะ-หยับ ข อักษรสูง นำ ย อักษรต่ำ ออกเสียงวรรณยุกต์ตาม ห
ฉลาม ฉะ-หลาม ฉ อักษรสูง นำ ล อักษรต่ำ ออกเสียงวรรณยุกต์ตาม ห
ตลาด ตะ-หลาด ต อักษรกลาง นำ ล อักษรต่ำ ออกเสียงวรรณยุกต์ตาม ต
สนาม สะ-หนาม ส อักษรสูง นำ น อักษรต่ำ ออกเสียงวรรณยุกต์ตาม ส
ผลิต ผะ-หลิต ผ อักษรสูง นำ ล อักษรต่ำ ออกเสียงวรรณยุกต์ตาม ผ
ตัวอย่างคำอักษรนำ-อักษรตาม
ขยะขยาดตลาดเสนอ … ฉลาดเสมอเฉลิมไฉน
สนิมสนองฉลองไสว … เถลไถลหวาดหวั่นแสวง
อย่าอยู่อย่างอยากเผยอ … ตลิ่งตลบเสนอถลอกแถลง
จมูกถนัดขยะแขยง … สวะสวิงหน่ายแหนงขยับขยาย
หรูหราหรุบหรับ(สา)หร่าย … สลับสลายเสนาะสนุกสนาน
สลิดเสลดสลัดสมาน … หวังหลอกเหลนหลานหลากหลาย
สระ (อ ว ย ร) เช่น
สรรค์ รร ทำหน้าที่แทนวิสรรชนีย์ หรือสระอะ
กวน ว เป็นสระอัวลดรูป
เสีย ย เป็นส่วนประกอบของสระเอีย
ขอ เสือ มือ อ เป็นสระ และเป็นส่วนหนึ่งของสระ
ตัวการันต์ เช่น
จันทร์ ทร์ เป็นตัวการันต์
ลักษณ์ ษณ์ เป็นตัวการันต์
ศิลป์ ป์ เป็นตัวการันต์
พยัญชนะไทยที่พึงสังเกตและควรจดจำ
อักษร ฃ นักภาษาศาสตร์ได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของพยัญชนะ ฃ และสันนิษฐานว่า ฃ นั้นเดิมมีฐานเสียงที่แตกต่างจากฐานเสียงของ ข โดยมีลักษณะเสียงเป็นพยัญชนะลิ้นไก่อโฆษะ ซึ่งพบได้ในภาษาต่างๆในกลุ่มภาษาไท และภาษาอื่น ในภายหลังหน่วยเสียงนี้ค่อยๆสูญหายไป โดยออกเสียง ข แทน เป็นที่น่าสังเกตว่า ฃ มีใช้ในตำแหน่งที่เป็นพยัญชนะต้น ไม่ปรากฏในตำแหน่งตัวสะกดเลย นอกจากนี้ยังมีข้อที่น่าสังเกตว่าคำว่า “ขวด” ซึ่งเป็นชื่อของพยัญชนะตัวนี้ ก็ไม่เคยเขียนด้วย ฃ (นั่นคือ ฃวด) มาก่อนเลย สาเหตุที่ทำให้เลิกใช้ ฃ (ขวด) และ ฅ (คน) นั้น คงเนื่องมาจากพิมพ์ดีดภาษาไทยในสมัยแรกๆที่แป้นอักษรไม่มี ฃ และ ฅ เนื่องจากก้านอักษรมีไม่พอกับจำนวนสระพยัญชนะและวรรณยุกต์ในภาษาไทย จึงต้องตัดคำบางคำหรือเครื่องหมายตัวออกไปบ้าง
อักษร ฅ เป็นอักษรที่เลิกใช้แล้ว ไม่มีคำศัพท์ในหมวดคำ ฅ ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่ยังมีการใช้ ฅ อยู่บ้างในบางแวดวง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้ตัวอักษรไทยมีใช้ครบ 44 ตัว เท่าที่พบเห็นมักจะใช้ในคำว่า ฅน (คน)
อักษร ฑ ในคำไทยบางคำอ่านออกเสียงเป็น /ท/ อย่างคำว่า มณโฑ (มน-โท) บุณฑริก (บุน-ทะ-ริก) แต่บางครั้งออกเสียงเป็น /ด/ เช่น มณฑป (มน-ดบ) บัณฑิต (บัน-ดิด)
อักษร ณ ตัวเดียวสามารถเป็นคำได้หนึ่งคำ ณ อ่านว่า นะ แปลว่า “ที่” เป็นคำบุพบท
อักษร บ ตัวเดียวแล้วเติมไม้เอก โดยไม่มีสระสามารถเป็นคำได้หนึ่งคำ คือ บ่ อ่านว่า บ่อ หรือ เบาะ แปลว่า “ไม่” เป็นคำพิเศษที่แสดงถึงความเป็นตรงกันข้าม
อักษร ร ที่เป็นพยัญชนะสะกดซึ่งตามหลังสระออ จะไม่ปรากฏตัวออ ให้ใช้ ร ต่อท้ายพยัญชนะต้นไปได้เลย เช่น กร (กอน) พร (พอน) ละคร (ละ-คอน) เป็นต้น คำไทยบางคำที่ยืมมาจากภาษาเขมรและภาษาสันสกฤต จะมี ร ซ้อนกันสองตัวเรียกว่า ร หัน (รร) เมื่อตามหลังพยัญชนะต้นจะออกเสียงคล้ายมีสระอะ และสะกดด้วยแม่กนหรือพยัญชนะตัวถัดไป เช่น บรรพชา (บัน-พะ-ชา) สรรพ (สับ) ธรรมะ (ทัม-มะ) เป็นต้น
อักษร ว รูปสระ ตัววอ (ว) ยังสามารถใช้เป็น สระ อัว เมื่อมีพยัญชนะสะกด เช่น สวน และใช้ประสมสระ อัวะ และ อัว
อักษร ห จะไม่ถูกใช้เป็นพยัญชนะสะกด ถึงแม้เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี ห ก็จะไม่ออกเสียง แต่จะออกเสียงเป็นพยัญชนะตัวถัดไปแทน เช่น พราหมณ์ (พราม) พรัหมา (พรัม-มา) เป็นต้น ห สามารถใช้เป็นอักษรนำสำหรับพยัญชนะเหล่านี้ ง ญ ณ น ม ย ร ล ว ฬ เพื่อให้สามารถผันวรรณยุกต์ได้ครบ 5 เสียง
อักษร ฬ ปัจจุบัน ฬ ไม่มีที่ใช้เป็นพยัญชนะต้นของคำ
อักษร อ รูปสระ ตัวออ (อ) ยังสามารถใช้เป็นสระ ออ เมื่ออยู่หลังพยัญชนะต้น ใช้ถัดจากสระ อื เมื่อไม่มีพยัญชนะสะกด เช่น ถือ และใช้ประสมสระ เอือะ เอือ เออะ และ เออ โดยทั่วไปเรามักจัดให้ อ เป็นเสียงนำสระ แต่ในทางภาษาศาสตร์ ถือว่า อ นั้น เป็นพยัญชนะปิดหรือหยุด
อักษร ฮ จะไม่ถูกใช้เป็นพยัญชนะสะกด
วรรณยุกต์
คือ เครื่องหมายที่ใช้กำกับคำเพื่อให้มีระดับเสียงต่างกัน ภาษาที่ไม่มีวรรณยุกต์มีเเต่สระกับพยัญชนะก็พอเเล้วจะอ่านสูงๆ ต่ำๆ อย่างไรก็เเล้วเเต่ในภาษาไทยนิยมใช้วรรณยุกต์ด้วย จึงต้องมีอักษรวรรณยุกต์บังคับอีกต่อหนึ่ง จะอ่านเป็นสูงๆ ต่ำๆ ตามอำเภอใจไม่ได้
ประโยชน์ของวรรณยุกต์ คือ ช่วยทำให้คำมีความหมายมากขึ้น แตกต่างจากภาษาของชาติอื่นๆ เช่น ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า (เสียงนี้มี 4 ความหมาย) ต่างจากภาษาอังกฤษไม่ว่าจะออกเสียง dog สูงต่ำอย่างไร ความหมายคงเดิม
ปา หมายถึง ขว้างปา
ป่า หมายถึง ที่มีต้นไม้ภูเขา และสัตว์
ป้า หมายถึง พี่ของพ่อหรือแม่
ป๊า หมายถึง พ่อในภาษาบางภาษา
ป๋า หมายถึง พ่อในภาษาบางภาษา
วรรณยุกต์มี 4 รูป 5 เสียง เสียงวรรณยุกต์ที่ใช้อยู่ในภาษาไทย มี 5 เสียง
เสียงสามัญ คือ เสียงกลางๆ เช่น กา มา ทา เป็น ชน
เสียงเอก ก่า ข่า ป่า ดึก จมูก ตก หมด
เสียงโท เช่น ก้า ค่า ลาก พราก กลิ้ง สร้าง
เสียงตรี เช่น ก๊า ค้า ม้า ช้าง โน้ต มด
เสียงจัตวา เช่น ก๋า ขา หมา หลิว สวย หาม ปิ๋ว จิ๋ว
การผันวรรณยุกต์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. วรรณยุกต์มีรูป หมายถึง วรรณยุกต์ที่มีเครื่องหมายบอกระดับของเสียงให้เห็นชัดเจนอยู่บนอักษรมีอยู่ 4 รูป คือ วรรณยุกต์เอก, วรรณยุกต์โท, วรรณยุกต์ตรี และวรรณยุกต์จัตวา โดยลำดับและให้เขียนไว้บนอักษรตอนสุดท้าย เช่น ก่ ก้ ก๊ ก๋ ปั่น ปั้น ลื่น เลี่ยน เป็นต้น ถ้าเป็นอักษรควบหรืออักษรนำให้เขียนไว้บนอักษรตัวที่ 2 เช่น ครุ่น คลื่น เกลื่อน เกล้า ใกล้ เสน่ห์ หมั่น โกร๋น ฯลฯ
รูปวรรณยุกต์นี้เริ่มใช้ขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย แต่มีใช้อยู่เพียง 2 รูปเท่านั้นคือไม้เอกกับไม้โท แต่ไม้โทในสมัยนั้นเขียนเป็นรูปกากบาท ( + ) เหมือนไม้จัตวาในปัจจุบัน ต่อมาในปลายสมัยกรุงสุโขทัยจึงได้เปลี่ยนรูปกากบาทมาเป็นรูปไม้โทในปัจจุบัน ส่วนไม้ตรีกับไม้จัตวายังไม่มีใช้ น่าจะเพิ่มมีใช้เมื่อตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และคงจะได้คิดสำหรับใช้เขียนคำที่มาจากภาษาจีนเป็นมูลเหตุ ดังปรากฎคำเขียนอยู่ในกฎหมายศักดินาพลเรือน ซึ่งมีคำเขียนเป็นภาษาจีนที่ใช้ไม้ตรีและจัตวากำกับอยู่หลายชื่อเช่น จุ้นจู๊ – นายสำเภา, บั๋นจู๊ – พนักงานซ่อมแปลงสำเภา เป็นต้น
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหรือก่อนนั้นขึ้นไปก็ยังไม่มีวรรณยุกต์ตรี หรือวรรณยุกต์จัตวาใช้ ข้อนี้มีหลักฐานยืนยันอยู่ในหนังสือจินดามณี ซึ่งเป็นตำราสอนหนังสือไทยที่พระโหราแต่งขึ้นในสมัยนั้น มีโคลงบอกวรรณยุกต์ไว้บทหนึ่งว่า
สมุหเสมียนเรียนรอบรู้ วิสัญช์
แปดสิ่งนี้ใครรู้ จึงให้เป็นเสมียน
ข้อความในโคลงบทนี้แสดงให้เห็นว่า แม้สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ยังไม่มีรูปวรรณยุกต์ตรี และ วรรณยุกต์จัตวาใช้ ถ้ามีใช้คงจะได้ปรากฎอยู่ในโคลงบทนี้ เพราะเป็นตำราเรียนอยู่ในสมัยนั้น
วรรณยุกต์ไม่มีรูปต่างกับวรรณยุกต์ที่มีรูป คือ วรรณยุกต์ที่มีรูปจะต้องมีเครื่องหมายบอกเสียงกำกับอยู่บนตัวอักษร และมีเพียง 4 เสียงเท่านั้นคือ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี เสียงจัตวา ตามรูปวรรณยุกต์แต่ไม่มีเสียงสามัญ ส่วนวรรณยุกต์ไม่มีรูปจะมีครบทั้ง 5 เสียงเต็มตามจำนวนเสียงที่กำหนดใช้อยู่ในภาษาไทย โดยไม่มีเครื่องหมายบอกเสียงกำกับ แต่อาศัยการออกพื้นเสียงตามหมู่ของอักษรทั้ง 2 ดังนี้ (พื้นเสียง คือ คำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์แต่มีเสียงวรรณยุกต์)
คำเป็น คือ คำที่ประสมกับสระเสียงยาว หรือเสียงสั้นที่มีตัวสะกดในแม่ กง กน กม เกย และ เกอว เช่น มา กิน ข้าว ฯลฯ
คำตาย คือ คำที่ประสมกับสระเสียงสั้น หรอเสียงยาวที่มีตัวสะกดในแม่ กก กด กบ เช่น เด็ก นะ จาก ฯลฯ
คำตายผันได้ 3 คำใช้วรรณยุกต์ เอก โท จัตวา แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
1. คำตายสระสั้น พื้นเสียงเป็นตรี เช่น คะ คก คด คบ ผันด้วยวรรณยุกต์เอก เป็นเสียงโท เช่น ค่ะ ค่ก ค่ด ค่บ ผันด้วยวรรณยุกต์จัตวาเป็นเสียงจัตวา เช่น ค๋ะ ค๋ก ค๋ด ค๋บ
2. คำตายสระยาว พื้นเสียงเป็นโท เช่น คาก คาด คาบ ผันด้วยวรรณยุกต์โท เป็นเสียงตรี เช่น ค้าก ค้าด ค้าบ ผันด้วยวรรณยุกต์จัตวา เป็นเสียงจัตวา เช่น ค๋าก ค๋าด ค๋าบ
วิธีผันอักษร 3 หมู่ ที่เรียกว่า ไตรยางศ์นั้นใช้ผันรูปวรรณยุกต์ต่างๆ กันดังนี้ อักษรสูง ผันด้วยวรรณยุกต์เอก และโท คำเป็นผันได้ 3 คำ คำตายผันได้ 2 คำ
พยัญชนะเสียงสูง
คำเป็น พื้นเสียงเป็นเสียงจัตวา เช่น ขา ขง ขน ขม เขย ขาว ผันด้วยวรรณยุกต์เอก เป็นเสียงเอก เช่น ข่า ข่ง ข่น ข่ม เข่ย ข่าว ผันด้วยวรรณยุกต์โทเป็นเสียงโท เช่น ข้า ข้ง ข้น ข้ม เข้ย ข้าว
คำตาย พื้นเสียงเป็นเสียงเอก เช่น ขะ ขก ขด ขบ ขาก ขาด ขาบ ผันด้วยวรรณยุกต์โทเป็นเสียงโท เช่น ข้ะ ข้ก ข้ด ข้บ ข้าก ข้าด ข้าบ อักษรกลางผันด้วยวรรณยุกต์เอก วรรณยุกต์โท วรรณยุกต์ตรี วรรณยุกต์จัตวา
พยัญชนะเสียงกลาง
คำเป็น ผันได้ 5 คำ
พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ เช่น กา กง กน กม เกย กาว
ผันด้วยวรรณยุกต์เอกเป็นเสียงเอก เช่น ก่า ก่ง ก่น ก่ม เก่ย ก่าว
ผันด้วยวรรณยุกต์โทเป็นเสียงโท เช่น ก้า ก้ง ก้น ก้ม เก้ย ก้าว
ผันด้วยวรรณยุกต์ตรีเป็นเสียงตรี เช่น ก๊า ก๊ง ก๊น ก๊ม เก๊ย ก๊าว
ผันด้วยวรรณยุกต์จัตวาเป็นเสียงจัตวา เช่น ก๋า ก๋ง ก๋น ก๋ม เก๋ย ก๋าว
คำตาย ผันได้ 4 คำ คำเป็น
พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ เช่น กา กง กน กม เกย กาว
ผันด้วยวรรณยุกต์เอก เป็นเสียงเอก เช่น ก่า ก่ง ก่น ก่ม เก่ย ก่าว
ผันด้วยวรรณยุกต์โท เป็นเสียงโท เช่น ก้า ก้ง ก้น ก้ม เก้ย ก้าว
ผันด้วยวรรณยุกต์ตรี เป็นเสียงตรี เช่น ก๊า ก๊ง ก๊น ก๊ม เก๊ย ก๊าว
ผันด้วยวรรณยุกต์จัตวาเป็นเสียงจัตวา เช่น ก๋า ก๋ง ก๋น ก๋ม เก๋ย ก๋าว
พื้นเสียงเป็นเสียงเอก เช่น กะ กก กด กบ กาก กาด กาบ
ผันด้วยวรรณยุกต์โท เป็นเสียงโท เช่น ก้ะ ก้ก ก้ด ก้บ ก้าก ก้าด ก้าบ
ผันด้วยวรรณยุกต์ตรี เป็นเสียงตรี เช่น ก๊ะ ก๊ก ก๊ด ก๊บ ก๊าก ก๊าด ก๊าบ
ผันด้วยวรรณยุกต์จัตวา เป็นเสียงจัตวา เช่น ก๋ะ ก๋ก ก๋ด ก๋บ ก๋าก ก๋าด ก๋าบ
อักษรต่ำ ผันด้วยวรรณยุกต์เอก วรรณยุกต์โท คำเป็นผันได้ 3 คำ
พยัญชนะเสียงต่ำ
คำเป็น
พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ เช่น คา คง คน คม เคย คาว
ผันด้วยวรรณยุกต์เอกเป็นเสียงโท เช่น ค่า ค่ง ค่น ค่ม เค่ย ค่าว
ผันด้วยวรรณยุกต์โทเป็นเสียงตรี เช่น ค้า ค้ง ค้น ค้ม เค้ย ค้า
คำตาย
สระสั้นพื้นเสียงเป็นตรี เช่น คะ คก คด คบ
ผันด้วยวรรณยุกต์เอกเป็นเสียงโท เช่น ค่ะ ค่ก ค่ด ค่บ
ผันด้วยวรรณยุกต์จัตวาเป็นเสียงจัตวา เช่น ค๋ะ ค๋ก ค๋ด ค๋บ
สระยาวพื้นเสียงเป็นโท เช่น คาก คาด คาบ
ผันด้วยวรรณยุกต์โทเป็นเสียงตรี เช่น ค้าก ค้าด ค้าบ
ผันด้วยวรรณยุกต์จัตวาเป็นเสียงจัตวา เช่น ค๋าก ค๋าด ค๋าบ
จะเห็นได้ว่าอักษรสูงกับอักษรกลางมีเสียงตรงกับรูปวรรณยุกต์เสมอ แต่อักษรต่ำจะมีเสียงสูงกว่ารูปวรรณยุกต์หนึ่งขั้น เว้นไว้แต่วรรณยุกต์จัตวาซึ่งเสียงคงเป็นจัตวาตามรูปวรรณยุกต์ เพราะไม่มีเสียงใดที่จะสูงไปกว่านั้นอีก เพราะเหตุที่อักษรต่ำมีเสียงไม่ตรงกับรูปวรรณยุกต์ จึงมักทำให้เกิดความงง ในเวลาต้องการจะทราบเสียงวรรณยุกต์ที่แท้จริง แต่ถ้าเข้าใจวิธีผันอักษรกลางเป็นอย่างดีแล้วก็สามารถเทียบเสียงได้โดยอาศัยอักษรกลางเป็นหลัก
สระ
รูปสระ มี 21 รูป และมีชื่อเรียกต่าง ๆ ดังนี้
1. ะ วิสรรชนีย์ 12. ใ ไม้ม้วน ฟ
2. อั ไม้หันอากาศ 13. ไ ไม้มลาย
3. อ็ ไม้ไต่คู้ 14. โ ไม้โอ
4. า ลากข้าง 15. อ ตัว ออ
5. อิ พินทุ์อิ 16. ย ตัว ยอ
6. ‘ ฝนทอง 17. ว ตัว วอ
7. อํ นิคหิตหรือหยาดน้ำค้าง 18. ฤ ตัว รึ
8. ” ฟันหนู 19. ฤๅ ตัว รือ
9. อุ ตีนเหยียด 20. ฦ ตัว ลึ
10. อู ตีนคู้ 21.ฦๅ ตัวลือ
11. เ ไม้หน้า
เสียงสระ เมื่อนำรูปสระทั้ง 21 รูป มารวมกัน จะได้สระทั้งหมด 32 เสียง จำแนกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- สระแท้ มี 18 เสียง แบ่งออกเป็น
สระเสียงสั้น ได้แก่ อะ อิ อึ อึ เอะ เออะ โอะ แอะ เอาะ
สระเสียงยาว ได้แก่ อา อี อื อู เอ เออ โอ แอ ออ
- สระประสม มี 6 เสียง ได้แก่
เอีย เกิดจากเสียง -ี + -า เอีย
เอียะ เกิดจากเสียง -ิ + -ะ เอียะ
เอือ เกิดจากเสียง -ื + -า เอือ
เอือะ เกิดจากเสียง -ึ + -า เอือะ
อัว เกิดจากเสียง -ู + -า อัว
อัวะ เกิดจากเสียง -ุ + -ะ อัวะ
- สระลอย มี 8 เสียง ได้แก่ ฤ ฤา ฦ ฦ อำ ไอ ใอ เอา
วลี / พยางค์
วลี หรือ กลุ่มคำ เป็นการนำคำตั้งแต่สองคำขึ้นไปมาเรียงต่อกันทำให้เกิดความหมายเพิ่มขึ้น มีความหมายมาจากคำเดิมที่นำมารวมมารวมกันแต่ไม่สมบูรณ์เหมือนประโยค วลีส่วนใหญ่มีคำกลางที่สำคัญหนึ่งคำที่เป็นตัวบ่งบอกถึงประเภทของวลี คำนั้นเรียกว่าเป็น “คำหลัก” ของวลี ดังนั้นเราสามารถแบ่งประเภทของวลีตามคำหลักของวลีได้ดังนี้คือ
นามวลี (NP) เป็นวลีที่มีคำนามเป็นคำหลักของวลี เช่น แมวบนเสื่อ, บ้านริมน้ำ
กริยาวลี (VP) เป็นวลีที่มีคำกริยาเป็นคำหลักของวลี เช่น กินข้าว, กระโดดขึ้นลง
บุพบทวลี (PP) เป็นวลีที่มีคำบุพบทเป็นคำหลักของวลี เช่น ที่สุดถนน, หน้าร้านอาหาร
พยางค์ เป็นการประสมเสียงในภาษา เพราะพยางค์เกิดจากการเปล่งเสียงสระ เสียงพยัญชนะ และเสียงวรรณยุกต์ ติดตามกันอย่างกระชั้นชิด พยางค์มีองค์ประกอบดังนี้ เสียงพยัญชนะต้น เสียงสระ เสียงวรรณยุกต์ และเสียงสะกด
เสียงพยัญชนะต้น คือ เสียงที่เปล่งออกมาก่อน บางคำจะเป็นเสียงพยัญชนะเดี่ยว บางคำจะเป็นเสียงพยัญชนะควบกล้ำก็ได้ เช่น
อ่าง (พยัญชนะต้น คือ อ)
ลิฟท์ (พยัญชนะต้น คือ ล)
ดาว (พยัญชนะต้น คือ ด)
คลอง (พยัญชนะต้น คือ คล)
ไกร (พยัญชนะต้น คือ กร)
ขวาน (พยัญชนะต้น คือ ขว) เป็นต้น
เสียงสระ คือ เสียงที่เปล่งตามติดมากับเสียงพยัญชนะ เช่น
งา (เสียงสระ อา)
ชล (เสียงสระ โอะ)
เสีย (เสียงสระ เอีย)
เกาะ (เสียงสระ เอาะ) เป็นต้น
เสียงวรรณยุกต์ คือ เสียงที่เปล่งออกมาพร้อมกับเสียงสระ เพื่อให้มีระดับเสียงสูงต่ำต่างกันไป เช่น
ใหญ่ (เสียงวรรณยุกต์ เอก)
เพื่อ (เสียงวรรณยุกต์ โท)
สี (เสียงวรรณยุกต์จัตวา) เป็นต้น
การที่เราเปล่งเสียงออกมาจากลำคอครั้งหนึ่งๆ นั้น เราเรียกเสียงที่เปล่งออกมาว่า “พยางค์” แม้ว่าเสียงที่เปล่งออกมาจะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ตาม เช่น เราเปล่งเสียง “สุ” ถึงจะไม่รู้ความหมาย หรือไม่รู้เรื่องเราก็เรียกว่า 1 พยางค์ หากเราเปล่งเสียงออกมาอีกครั้งหนึ่งว่า “กร” จะเป็น “สุกร” จึงจะมีความหมาย คำว่า “สุกร” ซึ่งเปล่งเสียง 2 ครั้ง เราก็ถือว่ามี 2 พยางค์ เสียงที่เปล่งออกมาครั้งเดียวมีความหมาย เช่น นา หมายถึง ที่ปลูกข้าว เสียงที่เปล่งออกมาว่า “นา” นี้เป็น 1 พยางค์
ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้
ไร่ มี 1 พยางค์
ชาวไร่ มี 2 พยางค์ (ชาว – ไร่)
สหกรณ์ มี 3 พยางค์ (สะ – หะ – กอน)
โรงพยาบาล มี 4 พยางค์ (โรง – พะ – ยา – บาน)
นักศึกษาผู้ใหญ่ มี 5 พยางค์ (นัก – สึก – สา – ผู้ – ใหญ่)
สหกรณ์การเกษตร มี 6 พยางค์ (สะ – หะ – กอน – กาน – กะ – เสด)
จากตัวอย่างข้างบนนี้สรุปได้ว่า
พยางค์ คือ เสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่ง จะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ตาม ถ้าเปล่งเสียงออกมา 1 ครั้ง ก็เรียก 1 พยางค์ 2 ครั้งก็เรียก 2 พยางค์ พยางค์เกิดจากการเปล่งเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ออกมาพร้อมๆ กัน พยางค์ที่มีความหมายอาจจะเป็นพยางค์เดียวหรือหลายพยางค์ก็ได้